ภาพรวมเนื้อหา
รู้จัก วาณิชธนกิจ บริษัทตัวแทนด้านการเงินการลงทุน
โดย โค้ชเกรซ
อัพเดทเมื่อ 26 กันยายน 2024
ตรวจสอบความถูกต้องโดย Elite Group Academy
วาณิชธนกิจ คืออะไร?
วาณิชธนกิจ(Investment banking) หรือชื่อย่อ “IB” คือสถาบันทางการเงินหรือกลุ่มองค์กรที่ทำหน้าที่ระดมทุนเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ บริหารการเงิน ควบรวมซื้อขายกิจการ(M&A) รวมถึงเป็นตัวกลางเจรจา ให้คำแนะนำรับเป็นปรึกษาทางธุรกิจ แก่บริษัท(เอกชน) รัฐบาล(ภาครัฐ) และเหล่านักลงทุน(รายใหญ่) เพื่อเป้าหมายในการสร้างผลกำไรให้แก่นักลงทุนที่เข้าร่วมระดมทุนในโครงการนั้น ๆ
หน้าที่ของวาณิชธนกิจ
วาณิชธนกิจมักอยู่ในรูปแบบบริษัทตัวแทน(Agency)ด้านบริการด้านการลงทุนให้แก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อให้เกิดการลงทุนแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็น การแนะนำราคาขายที่เหมาะสม จัดการกิจธุระด้านควบรวมกิจการ เป็นตัวแทนในการเจรจาธุรกิจ จัดการระดมทุน(IPO) การวิจัยหุ้นและตราสารทุน การบริหารสินทรัพย์ ไปจนถึงการพิจารณาสัญญาประกันภัยและให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงให้กับนักลงทุน เป็นต้น
ยกตัวอย่างวาณิชธนกิจชื่อดังที่เราอาจคุ้นหูกันมาบ้าง เช่น JPMorgan, Morgan Stanley, Jefferies, Goldman Sachs และ Evercore
โดยวาณิชธนกิจนั้นมีข้อแตกต่างกับธนาคารพาณิชย์เพื่อการลงทุน(Commercial Bank) ตรงที่ธนาคารพาณิชย์มักเก็บค่าธรรมเนียมสําหรับการค่าบริการในการทําธุรกรรม และรับรายได้จากเงินฝากของผู้ลงทุน แตกต่างกับวาณิชธนกิจซึ่งมีหน้าที่หลักคือการอำนวยความสะดวกและดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกในการเป็นนายหน้าของการซื้อขายและระดมทุนที่มีความเสี่ยงสูงกว่าเป็นหลัก
บริการของวาณิชธนกิจ
ปัจจุบันบริการที่ธุรกิจในกลุ่มวาณิชธนกิจมักรับเป็นตัวแทน ได้แก่
- บริการด้านที่ปรึกษาแก่ธุรกิจ: จัดทำข้อเสนอเพื่อเจรจา วางแผนโครงสร้างเมื่อควบรวมกิจการ และการเข้าซื้อกิจการครบวงจร
- พิจารณาสัญญาประกันภัย: รวมกลุ่มผู้ต้องการเข้าร่วมการระดมทุน โดยให้ความช่วยเหลือระหว่างนักลงทุนและบริษัทที่ต้องการเพิ่มทุน รวมถึงชักเชิญสาธารณะชนทั่วไปในการซื้อหุ้นออกใหม่
- บริการควบรวมกิจการ(M&A): วาณิชธนกิจจะมีบทบาทในการรับเป็นที่ปรึกษาแก่ผู้ซื้อและผู้ขายให้กับธุรกิจ รับผิดชอบเอกสารและกระบวนการควบรวมกิจการตั้งแต่ต้นจนจบ
- จับคู่ผู้ซื้อและขายในตลาด: วาณิชธนกิจทําหน้าที่เป็นตัวแทนหรือศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของลูกค้าซึ่งสามารถซื้อและขายด้วยเงินทุนของบริษัทได้
- รับวิจัยตลาด: มีหน้าที่วิเคราะห์และวิจัยภาวะการลงทุนของสินทรัพย์ทุกรูปแบบ เช่น หุ้นและตราสารเสี่ยง รวมถึงศึกษาหลักประกันของสินทรัพย์ที่ธุรกิจเพื่อให้ผู้ว่าจ้างรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและตัดสินใจลงทุนได้มีประสิทธิภาพขึ้น
- รับจัดการสินทรัพย์: การจัดการเป็นตัวแทนการลงทุนสําหรับนักลงทุนระดับสูง เช่น บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ รัฐบาล และบุคคลธรรมดา โดยใช้รูปแบบการลงทุนหลากหลายช่องทาง
กลุ่มลูกค้าของวาณิชธนกิจ
เหล่าบริษัทวาณิชธนกิจให้บริการแก่ผู้ว่าจ้างหลากหลายกลุ่มที่ต้องการเพิ่มทุนและมีความต้องการควบรวมกิจการของลูกค้าทั้งในประเทศและการขยายกิจการในต่างประเทศ
กลุ่มลูกค้าของวาณิชธนกิจ ได้แก่
- รัฐบาล: วาณิชธนกิจให้บริการแก่รัฐบาลเพื่อหาแหล่งเงินทุน การซื้อขายหลักทรัพย์เพื่อเก็งกำไร และหรือซื้อขายบริษัทที่ส่งผลต่อ GDP ของประเทศ
- บริษัท: พนักงานของวาณิชธนกิจมักทำงานร่วมกับผู้บริหารด้านการเงินภายในบริษัทเอกชนและบริษัทมหาชนเพื่อช่วยให้การจำหน่ายหุ้นออกสู่สาธารณะชน(IPO) ระดมทุนภายนอก วางโครงสร้างการขยายธุรกิจ เป็นตัวแทนเจรจาเข้าซื้อกิจการ และรายงานการวิจัยสําหรับสินทรัพย์ที่บริษัทต้องการลงทุน เป็นต้น
- สถาบันทางการเงิน(ธนาคารเพื่อการลงทุน): ธนาคารพาณิชย์เพื่อการลงทุนมีความต้องการวาณิชธนกิจเพื่อให้คำปรึกษาและเป็นตัวแทนจัดการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ผ่านการวิจัยข้อมูลที่ลดความเสี่ยงของกิจการได้ ทั้งนี้ ในบางกรณีวาณิชธนกิจยังมีหน้าที่ประเมิณราคาของธุรกิจจากผลประกอบการบริษัทที่สถาบันทางการเงินต้องการลงทุนอีกด้วย
อยากทำงานในวาณิชธนกิจต้องมีสกิลอะไรบ้าง ?
อาชีพวาณิชธนกิจ ต้องการทักษะในด้านการเงินและเศรษศาสตร์ในการสร้างแบบจําลองทางการเงิน(Financial Modelling) และทักษะการประเมินมูลค่าทางธุรกิจ(Valuation)ในขั้นสูง ด้วยหน้าที่พิจารณารับประกันภัยและการควบรวมกิจการ นักวิเคราะห์ในสายงานวาณิชธนกิจส่วนใหญ่จะใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีขั้นสูงในการสร้างแบบจําลองทางการเงิน และใช้วิธีการประเมินมูลค่าธุรกิจหลากหลายรูปแบบ จนนำไปสู่คำแนะนําที่มอบให้ลูกค้าและรับผิดชอบกระบวนการทําข้อตกลงทางธุรกิจให้แล้วเสร็จ
ทักษะที่จำเป็น ได้แก่
- เข้าใจภาพรวมการเงินบริษัท(Coporate Finance): สามารถวิเคราะห์งบการเงิน ทำความเข้าใจฐานะการเงิน และรับรู้ความเสี่ยงด้านผลกำไรและขาดทุนของบริษัทได้
- การสร้างแบบจำลองทางการเงิน: สร้างแบบจำลองทางการเงินได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การสร้างแบบจำลองด้านการเงินเพื่อคาดการณ์ผลลัพธ์, การประเมินมูลค่าหุ้นด้วย DCF, ใช้เครื่องมือทางการเงินที่ครอบงำกิจการ(LBO) เป็นต้น
- การประเมินมูลค่าของธุรกิจ(Valuation): ใช้วิธีการประเมินมูลค่าธุรกิจที่หลากหลาย เช่น การวิเคราะห์หุ้น เปรียบเทียบระหว่างบริษัท และหลักการาดการณ์กระแสเงินสดอิสระของบริษัท เป็นต้น
- สามารถจัดเตรียมเอกสารเกี่ยวกับธุรกิจ: การเตรียมเอกสาร เช่น Company Profile สำหรับนักลงทุน, จัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นให้แก่ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณา IPO, ร่างข้อตกลงการรักษาความลับของข้อมูล และอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับเอกสารทางกฎหมายทั้งหมด
- ทักษะด้านภาษาอังกฤษ: วาณิชธนกิจจำเป็นต้องใช้ทักษะด้านภาษาอังกฤษขั้นสูง เนื่องจากธนาคารและนักลงทุนรายใหญ่มักใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการติดต่อสื่อสาร(ระดับที่นำเสนองานได้)
- ทักษะด้านเจรจาต่อรองและนำเสนอ: กลยุทธ์การเจรจาเป็นปัจจัยสำคัญในการปิดข้อเสนอ ทั้งการเจรจาผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างผลกำไรสูงสุดให้แก่ผู้ว่าจ้างวาณิชธนกิจ
เงินเดือนและรายได้อาชีพวาณิชธนกิจ
เจ้าหน้าที่วาณิชธนากร(Investment Banking Division) ที่ทำงานอยู่กลุ่มธุรกิจวาณิชธนกิจนั้นฐานเงินเดือนจะขึ้นอยู่กับใบอนุญาติที่สอบผ่าน เนื่องจากปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย(ก.ล.ต.) ได้ให้การรับรองผู้แนะนำการลงทุน(IC)ออกเป็นหลายระดับด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ใบอนุญาติ IC License, IP License, CFA, IA License และ CFP® สามารถศึกษาหลักสูตรได้ที่ เส้นทางวิชาชีพตลาดทุนวาณิชธนากร(IB)
สำหรับเงินเดือนเริ่มต้นของวาณิชธนากรจะอยู่ที่ 35,000 ถึง 55,000 บาท พร้อมโบนัสประจำปี 6 – 12 เดือนขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนใบอนุญาติที่ถือครองและประสบการณ์ในการทำงานจริง